ข้อดี-ข้อเสียระหว่างปืนลูกโม่กับปืนกึ่งอัตโนมัติ

ผมเชื่อว่าหลายคนโดยเฉพาะมือใหม่ที่กำลังมองหาปืนกระบอกแรกในชีวิต(และอาจเป็นกระบอกเดียวด้วย) ตัดสินใจลำบากที่จะเลือกปืนลูกโม่ (Revolver) หรือปืนกึ่งอัตโนมัติ (Pistol, Semiautomatic handgun) ดี คำถามยอดฮิตสำหรับมือใหม่ก็คือ “ปืนชนิดไหนดีที่สุด” (เนื่องจากคงมีได้กระบอกเดียวก็อยากได้ปืนที่ดีที่สุดไปใช้)


ถ้าผมบอกว่าปืนลูกโม่ดีที่สุด เพราะเป็นปืนที่เกิดขึ้นมาก่อน เป็นปืนที่มีประวัติยาวนานขนาดคนอเมริกันใช้บุกเบิกประเทศก็คงมีคนแย่งว่า ปืนลูกโม่เป็นอดีตไปแล้ว ปัจจุบันปืนกึ่งอัตโนมัติครอบครองส่วนแบ่งการตลาดอาวุธปืนมากที่สุดในโลก ซึ่งก็คงมีคนยกมือขึ้นค้านอีกโต้เถียงกันไปมาไม่มีที่สิ้นสุด


คำถามที่ควรถามมากกว่าคือ “ปืนแบบไหนเหมาะสมกับเรามากที่สุด” ซึ่งคำถามนี้ไม่มีใครตอบได้นอกจากตัวคุณเอง ผมขอแนะนำว่าก่อนตัดสินใจเลือกปืนสักกระบอกมาใช้งาน ควรศึกษาปืนแต่ละแบบให้ดีเสียก่อนทั้งข้อดี ข้อเสีย ข้อจำกัด และเมื่อมีปืนแล้วก็ควรหมั่นฝึกซ้อมยิงปืนโดยเรียนรู้จากครูสอนยิงปืนมืออาชีพ อย่างเช่น ชมรมยิงปืน Thai tactical shooting club หรือ TAS เพราะการยิงปืนควรเริ่มต้นอย่างถูกวิธี ถ้าเราเรียนรู้สิ่งผิดๆไปแล้วการกลับมาแก้ไขก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก (แต่ก็ไม่ถึงกับทำไม่ได้)


ผมจะกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างปืนลูกโม่กับปืนกึ่งอัตโนมัติที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่พอสังเขปเพื่อเป็นข้อมูลตัดสินใจในการเลือกปืนสักกระบอกมาใช้งาน โดยส่วนหนึ่งเป็นความคิดเห็นส่วนตัวซึ่งบุคคลอื่นอาจเห็นแตกต่างไปได้


1. ความสวยงาม หนังบู๊ล้างผลาญตามโรงหนังส่วนใหญ่ใช้ปืนกึ่งอัตโนมัติเพราะดูเท่ห์ เก๋ ปราดเปรียว ซึ่งก็จริงของเขาปืนกึ่งอัตโนมัติมีการออกแบบที่หลากหลายทำให้รูปทรงมีความแตกต่างออกไปได้มาก ส่วนปืนลูกโม่ดูเรียบง่ายมาหลายร้อยปีรูปทรงเปลี่ยนแปลงน้อยมาก คนส่วนใหญ่ถ้าถามว่าชอบรูปทรงปืนแบบไหนก็คงตอบว่าปืนกึ่งอัตโนมัติ แต่กระนั้นก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่อาจตอบว่าปืนลูกโม่ ดังนั้นเรื่องความสวยงานนั้นก็ถือเป็นเอกสิทธ์ของแต่ละบุคคลไม่ขอวิจารณ์ครับ


2. วงกระสุน ศัพท์นี้ฟังแปลกๆในที่นี้ผมหมายถึง จำนวนกระสุนที่บรรจุได้ สำหรับปืนลูกโม่ก็ประมาณ 5 ถึง 6 นัดเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดกระสุนที่ใช้เช่น ถ้าเป็นกระสุนขนาด .38 นิ้ว หรือ .357 แม็กนั่ม ถ้าเป็นปืนโครงเล็กก็บรรจุกระสุนได้ 5 นัดแต่ถ้าเป็นโครงกลางถึงใหญ่ก็ 6 นัด แต่ปืนกึ่งอัตโนมัติถ้าใช้กระสุนขนาด 9 มม. อาจบรรจุกระสุนได้ถึง 10 กว่านัดแถมยังสามารถใส่เพิ่มในรังเพลิงเตรียมพร้อมได้อีกหนึ่งนัด ถ้าใช้กระสุนขนาด .45 นิ้วก็อาจบรรจุในแม็กกาซีนหรือซองกระสุนได้ตั้งแต่ 7 ถึง 8 นัดเสียเป็นส่วนใหญ่ยกเว้นบางรุ่นที่บรรจุได้มากขึ้นอีกเล็กน้อย อีกทั้งยังเพิ่มอีกหนึ่งนัดในรังเพลิงถือเป็นโบนัสทำให้วงกระสุนมากกว่าปืนลูกโม่อย่างไม่มีข้อสงสัย แต่เราควรรู้ว่าจากสถิติ (มีการศึกษาในอเมริกา) การใช้อาวุธปืนต่อสู้ในสถานการณ์จริงนั้นวงกระสุนที่ใช้มักไม่เกิน 3 ถึง 4 นัดเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นวงกระสุนของปืนลูกโม่จึงเพียงพอสำหรับการใช้งาน โอกาสที่เราจะต้องยิงบู๊ล้างผลาญเหมือนในหนังบอกได้คำเดียวว่า ยาก...... แต่กระนั้นบางคนอาจบอกว่ามีวงกระสุนมากๆไวก่อนอุ่นใจดี อันนี้ก็คงไม่ขอขัดอะไรเพราะเป็นเรื่องของจิตใจ


3. ความแม่นยำ ทุกคนก็คงอยากได้ปืนที่มีความแม่นยำชนิดที่หลับหูหลับตายิงก็โดน แต่ในความเป็นจริงแล้วผมเห็นว่าปืนมีส่วนในเรื่องความแม่นยำไม่ถึงกึ่งหนึ่ง เพราะปืนส่วนมากแล้วผลิตมาจากโรงงานที่มีชื่อเสียงได้มาตรฐาน เมื่อนำปืนแต่ละรุ่นมาทดสอบความแม่นยำอาจมีความแตกต่างกันบ้างแต่ก็หนีกันไม่เท่าไร ดังนั้นความแน่นยำขึ้นอยู่กับผู้ที่ใช้ปืนนั้นมากกว่า ปืนลูกโม่กับปืนกึ่งอัตโนมัติผมให้คะแนนเท่ากันในเรื่องความแม่นยำเมื่อใช้งานตามปกติ


4. ความเชื่อถือได้ของปืน หมายความว่ากลไกการทำงานของปืนมีโอกาสติดขัดน้อย เพราะถ้าเกิดเหตุการณ์ที่จำเป็นต้องใช้ปืนแต่มันกลับไม่ทำงานก็เป็นฝันร้ายของเจ้าของปืนนั้น ดังนั้นปืนที่ดีควรต้องทำงานได้อย่างราบลื่นไม่ติดขัดเพราะเราฝากชีวิตไว้กับมันในยามวิกฤติ ปืนลูกโม่มีประวัติการใช้งานยาวนานมากว่าร้อยปีกลไกการทำงานไม่ซับซ้อน ในขณะที่ปืนกึ่งอัตโนมัติมีการบริหารกลไกซับซ้อนกว่า เป็นที่ยอมรับกันว่าปืนลูกโม่มีโอกาสติดขัดได้น้อยกว่าปืนกึ่งอัตโนมัติ แต่ปัจจุบันปืนกึ่งอัตโนมัติสมัยใหม่มีการพัฒนาไปมากทำให้การบริหารกลไกมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นใกล้เคียงกับปืนลูกโม่


5. เหตุติดขัดระหว่างยิง ที่พบบ่อยก็คือกระสุนด้าน ถ้าเป็นปืนลูกโม่ก็แค่เหนี่ยวไกยิงนัดถัดไปได้เลย แต่ถ้าเป็นปืนกึ่งอัตโนมัติเราต้องกระชากสไลด์เพื่อคัดกระสุนที่ด้านนั้นออกก่อนและป้อนกระสุนนัดใหม่เข้ารังเพลิงจึงจะยิงต่อไปได้ซึ่งเสียเวลามากกว่าปืนลูกโม่อย่างแน่นอน นอกจากนั้นอาจพบภาวะที่ปลอกกระสุนติดอยู่ที่ช่องคัดปลอกกระสุนไม่กระเด็นออกมา หรือใส่ซองกระสุนไม่สุดทำให้กระสุนไม่เข้ารังเพลิง กระสุนเก่าเก็บดินขับอ่อนแรงปืนลูกโม่ก็สามารถยิงได้แต่ปืนกึ่งอัตโนมัติอาจมีปัญหาถ้าเก่าจนแรงขับของดินปืนไม่มากพอที่จะดันลูกเลื่อนให้ถอยหลังได้เต็มที่ปืนก็จะติดขัดได้ โดยรวมๆแล้วปืนกึ่งอัตโนมัติมีปัญหาจุกจิกระหว่างการยิงได้บ่อยกว่าปืนลูกโม่


6. การดูแลรักษา โดยเฉพาะหลังยิงปืนเราต้องทำความสะอาดปืนเพื่อขจัดคราบดินปืนและตะกั่ว ในกรณีปืนกึ่งอัตโนมัติมีชิ้นส่วนที่ต้องถอดออกมาทำความสะอาดมากกว่าปืนลูกโม่ ระยะเวลาการทำความสะอาดก็แล้วแต่ความพิถีพิถันของเจ้าของปืนซึ่งอาจเรียกได้ว่าใกล้เคียงกัน สำหรับผมแล้วปืนลูกโม่ใช้เวลาทำความสะอาดนานกว่าปืนกึ่งอัตโนมัติเล็กน้อยส่วนใหญ่เสียเวลาไปกับการทำความสะอาดโม่ซึ่งมีหลายรู แต่เท่าที่ถามคนอื่นใช้เวลากับปืนลูกโม่น้อยกว่าปืนกึ่งอัตโนมัติ


7. อำนาจหยุดยั้ง (Stopping power) ในที่นี้หมายถึงว่าเมื่อยิงปืนถูกเป้าหมายไปแล้วหนึ่งนัดโอกาสที่จะหยุดเป้าหมายไม่ให้ตอบโต้กลับมาได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งอำนาจหยุดยั้งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของกระสุนปืนเสียมากกว่า จากข้อมูลที่มีอยู่กระสุน .38 นิ้วอำนาจการหยุดยั้งประมาณเจ็ดสิบถึงแปดสิบกว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง แต่ถ้าเป็นกระสุนขนาด .357 แม็กนั่มแล้วอำนาจหยุดยั้งแปดสิบถึงเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์และมีอำนาจในการสังหาร (Killing power) สูงเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์จึงได้สมยานามว่า A mankiller สำหรับกระสุน 9 มม. มีอำนาจหยุดยั้งได้ดีกว่ากระสุน .38 นิ้วเล็กน้อย ในขณะที่กระสุนขนาด .45 นิ้วมีอำนาจหยุดยั้งเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์จนได้ชื่อว่า A manstopper จะเห็นได้ว่ากระสุน .357 แม็กนั่มเมื่อยิงถูกเป้าหมายแล้วมีโอกาสตายสูงแต่อาจไม่สามารถหยุดยั้งได้ในทันที


แต่กระสุน .45 นิ้ว มีโอกาสหยุดยั้งเป้าหมายได้ในนัดแรกสูงกว่า (พบว่าอำนาจหยุดยั้งของกระสุนปืนขึ้นกับน้ำหนักหัวกระสุน, ขนาดหน้าตัดของหัวกระสุน, ความเร็ว, รูปร่างของหัวกระสุน เป็นต้น) โดยหลักการแล้วเราต้องการกระสุนที่มีอานุภาพหยุดยั้งภัยคุกคามได้ในนัดแรกไม่เช่นนั้นแล้วเขาอาจยิงตอบโต้กลับมาได้ทำให้เราบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เมื่อเห็นเช่นนี้แล้วทุกคนอาจเลือกกระสุน .45 นิ้วกันหมดซึ่งก็ต้องใช้กับปืนกึ่งอัตโนมัติเท่านั้น (ความจริงแล้วมีปืนลูกโม่บางรุนที่สามารถใช้กระสุน .45 นิ้วได้ แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมเพราะโครงปืนใหญ่มากไม่คล่องตัว) แต่ในความเป็นจริงแล้วปืนที่ใช้กับกระสุน 9 มม. หรือ .38 นิ้ว กลับได้รับความนิยมมากกว่า ส่วนเรื่องอำนาจหยุดยั้งหรืออำนาจสังหารอาจชดเชยได้ด้วยการยิงแบบ Double taps (ยิงสองนัดติดๆกันอย่างรวดเร็ว)


8. การพกซ่อน ในเรื่องนี้คงต้องยกให้ปืนกึ่งอัตโนมัติได้เปรียบไปอย่างเห็นๆ เพราะโครงปืนแบนราบไม่มีส่วนโค้งนูนชัดเจนเหมือนปืนลูกโม่ทำให้การพกซ่อนทำได้แนบเนียนกว่า แต่ปืนลูกโม่ที่โครงปืนเล็กก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากนัก (บางรุ่นเล็กมากจนเหมือนปืนแก็ปก็มี) สามารถพกซ่อนได้เช่นกัน


9. อุปกรณ์เสริม คงต้องยอมรับว่าปืนกึ่งอัตโนมัติมีอุปกรณ์เสริมให้เลือกใช้มากกว่าเช่น ศูนย์ไฟฉายหรือศูนย์เลเซอร์สามารถนำมาติดกับตัวปืนได้ (ตัวปืนต้องมีรางสำหรับติดอุปกรณ์เสริมด้วย) และเมื่อติดอุปกรณ์เหล่านี้เข้าไปแล้วปืนกึ่งอัตโนมัติจะดูเท่มากขึ้นไปอีก แต่ก็ต้องแลกกับปืนที่หนักขึ้นและคล่องตัวน้อยลง ส่วนปืนลูกโม่ส่วนใหญ่ตัวปืนเองไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ติดตั้งอุปกรณ์เสริมเหล่านี้ดังนั้นจึงหาอุปกรณ์เสริมสำหรับปืนลูกโม่ไม่ง่ายนักและไม่ค่อยได้รับความนิยม สำหรับผมแล้วใช้ไฟฉายชนิดที่ไม่ติดกับตัวปืน (Tactical flashlight) ทำให้สามารถใช้ได้กับทั้งปืนลูกโม่และปืนกึ่งอัตโนมัติ


10. น้ำหนักไกปืน สำหรับปืนลูกโม่แล้วส่วนใหญ่ต้องให้ช่างปืนปรับแต่งไกปืนให้เพราะน้ำหนักไกปืนที่มากับโรงงานมักแข็งเกินไปแต่การปรับแต่งนั้นทำได้ง่ายกว่าปืนกึ่งอัตโนมัติมาก ส่วนปืนกึ่งอัตโนมัติส่วนใหญ่ก็ต้องปรับแต่งเช่นกันแต่บางรุ่นมีการปรับแต่งไกมาให้จากโรงงานแล้วจึงไม่จำเป็นต้องปรับแต่งอีก ยกเว้นผู้ยิงที่ต้องการไกปืนที่น้ำหนักเบาขึ้นไปอีกหรือปืนยิงแข่งขันซึ่งต้องปรับแต่งอีกมาก


11. ความคงทนในการใช้งาน ในแง่ของวัสดุที่ทำปืนทั้งสองชนิดมีความใกล้เคียงกันเป็นส่วนใหญ่ยกเว้นปืนบางรุ่นหรือบางแบบที่ทำจากวัสดุที่แตกต่างออกไปเช่น ปืนลูกโม่มีการนำไททาเนียมหรือสแกนเดียมมาทำปืนเพื่อให้มีน้ำหนักเบาลงในขณะที่ยังคงมีความทนทานในการใช้งานแต่ก็ทำให้ราคาปืนสูงขึ้นไปด้วย ในขณะที่ปืนกึ่งอัตโนมัติมีการนำพลาสติกโพลิเมอร์ชนิดพิเศษมาทำโครงปืนเพื่อให้น้ำหนักปืนเบาลงเช่นกัน (สไลด์และลำกล้องปืนยังทำจากเหล็กอยู่) แต่อายุการใช้งานก็อาจสั้นกว่าวัสดุอื่น โดยทั่วไปปืนลูกโม่มีส่วนที่เคลื่อนไหวน้อยกว่าปืนกึ่งอัตโนมัติในขณะที่ทำการยิงจึงมีการสึกหรอจากการใช้งานน้อยกว่า โดยรวมๆผมว่าปืนลูกโม่เป็นต่ออยู่เล็กน้อย


12. การบำรุงรักษา ในแง่นี้ขอพูดถึงการดูแลชิ้นส่วนภายในปืนเพื่อทำให้ปืนยังใช้งานได้ดีอยู่ สำหรับปืนกึ่งอัตโนมัติอาจต้องการการบำรุงรักษามากกว่าปืนลูกโม่เพราะมีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวมากกว่าจึงมีการสึกหรอได้ง่าย สปริงของปืนกึ่งอัตโนมัติควรเปลี่ยนตามคู่มือที่แนบมากับปืนแต่ละกระบอกแนะนำ เพื่อให้ปืนสามารถทำงานได้อย่างไม่ติดขัด อีกทั้งสปริงภายในแม็กกาซีนต้องหมั่นตรวจเช็คเพราะอาจมีอาการล้าตัวทำให้ป้อนกระสุนได้ไม่ดีเป็นเหตุให้ปืนติดขัดได้ นักยิงปืนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเปลี่ยนสปริงภายในปืนกึ่งอัตโนมัติตามที่คู่มือแนะนำเพราะไม่ได้บันทึกว่าได้ยิงไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว ดังนั้นถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งที่มีในปืนกึ่งอัตโนมัติซึ่งไม่ได้รับการเปลี่ยนอะไหล่ตามกำหนด


13. กระสุนซ้อม เมื่อมีปืนแล้วก็ต้องซ้อมยิงให้ชำนาญเผื่อเวลาใช้งานจริงจะได้ไม่ยิงพลาดไปถูกคนอื่น ในแง่ของกระสุนซ้อมแล้วกระสุน .38 นิ้ว กับ 9 มม. ราคาโดยทั่วไปเท่ากัน ส่วนกระสุนขนาด .357 แม็กนั่มไม่มีกระสุนซ้อม จึงใช้กระสุนขนาด .38 นิ้วแทน (ความจริงกระสุน .38 นิ้วหน้าตัดกระสุนเท่ากับ .357 นิ้วดังนั้นปืน .357 แม็กนั่มจึงสามารถใช้กระสุน .38 นิ้วแทนได้แต่ปืน .38 ไม่สามารถนำกระสุน .357 แม็กนั่มมาใส่ได้ถึงแม้หน้าตัดกระสุนจะเท่ากัน เพราะกระสุน .357 นิ้ว แม็กนั่มยาวกว่า .38 นิ้วเล็กน้อยดังนั้นเมื่อใส่ในโม่แล้วจะปิดโม่ไม่ได้ การที่ตัวเลขหน้าตัดของกระสุนต่างกันแต่กลับมีขนาดเท่ากันเป็นเพราะว่ากระสุน .38 นิ้วนั้นเกิดมาร้อยกว่าปีแล้ว เครื่องมือการวัดในสมัยนั้นไม่ค่อยเที่ยงตรงเท่าไร เมื่อเครื่องมือดีขึ้นพบว่าหน้าตัดจริงๆเป็น .357 นิ้วแต่เขาก็ไม่ได้เปลี่ยนชื่อใหม่ยังคงใช้ชื่อเดิมอยู่) ส่วนกระสุนซ้อมขนาด .45 นิ้วราคาสูงกว่า 9 มม. พอสมควร การเลือกใช้ปืนก็อาจต้องคิดถึงค่าใช้จ่ายในการฝึกซ้อมด้วย


14. ความง่ายในการใช้งาน ปืนลูกโม่แค่ใส่กระสุนเข้าโม่ ปิดโม่ แล้วยิงได้เลย แต่ปืนกึ่งอัตโนมัติเมื่อใส่ซองกระสุนแล้วต้องกระชากสไลด์ถอยหลังเพื่อป้อนกระสุนเข้ารังเพลิงและง้างนกสับก่อนจึงจะยิงได้ ซึ่งเสียเวลามากกว่าปืนลูกโม่เล็กน้อย ในกรณีที่ยิงจนหมดแล้วการบรรจุกระสุนใหม่ปืนกึ่งอัตโนมัติแค่ปลดซองกระสุนเก่าออกแล้วเสียบซองกระสุนใหม่เข้าไป จากนั้นปลดล็อคคันค้างสไลด์เพื่อป้อนกระสุนเข้ารังเพลิงแล้วยิงต่อได้เลยซึ่งใช้เวลาไม่กี่วินาที แต่ลูกโม่เมื่อเทปลอกกระสุนออกจากโม่แล้วต้องใส่ลูกปืนลงไปใหม่ด้วยมือซึ่งเสียเวลาพอสมควร ซึ่งเงื่อนไขนี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อได้เตรียมซองกระสุนซึ่งบรรจุกระสุนไว้ก่อนแล้วเท่านั้น เพราะถ้าต้องมานั่งบรรจุกระสุนใส่ในซองกระสุนแล้วค่อยเสียบเข้าตัวปืนก็คงเสียเวลามากกว่าปืนลูกโม่เป็นแน่ ในทางกลับกันถ้าผู้ใช้ปืนลูกโม่ได้เตรียมกระสุนใส่ในสปีดโรดเดอร์ (Speed loader) หรือเจ็ตโรดเดอร์ (Jet loader) ไว้ก่อนแล้ว ระยะเวลาในการบรรจุกระสุนใหม่ก็ไม่แพ้ปืนกึ่งอัตโนมัติ นอกจากนั้นบางท่านที่ใช้ปืนลูกโม่แม้จะบรรจุกระสุนด้วยมือก็ไม่ได้ช้ากว่าปืนกึ่งอัตโนมัติ แต่ต้องฝึกฝนกันพอสมควร(ผมถือว่าพวกนี้เป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษครับ)


หากต้องการทำให้ปืนอยู่ในสภาพที่ปลอดภัยไม่ลั่นออกมาเองสำหรับปืนลูกโม่ก็ง่ายมากแค่เปิดโม่ปืนก็ปลอดภัยแล้ว แต่สำหรับปืนกึ่งอัตโนมัติต้องทำหลายขั้นตอนกว่าปืนจะถือได้ว่าปลอดภัย (ต้องทำตามลำดับดังนี้ ปลดซองกระสุน กระชากสไลด์ 2-3 ครั้ง มองดูในช่องรังเพลิงว่าไม่มีกระสุนค้างอยู่ภายใน เหนี่ยวไกยิงทิ้งไปหนึ่งครั้ง)


นอกจากนั้นเวลาเก็บปืนที่บรรจุกระสุนไว้แล้วเพื่อความปลอดภัยและพร้อมใช้งานเมื่อยามจำเป็น สำหรับปืนลูกโม่ถึงบรรจุกระสุนในโม่จนเต็มก็ถือว่าปลอดภัย ปืนตกพื้นอย่างไรก็ไม่ลั่นออกมาเองได้อย่างแน่นอน นั้นคือจุดเด่นอีกข้อของปืนลูกโม่ในแง่ความปลอดภัย และเมื่อต้องการใช้ปืนก็หยิบขึ้นมายิงได้ทันที ส่วนปืนกึ่งอัตโนมัติมีหลายวิธีในการเก็บปืนหากบรรจุกระสุนในซองกระสุนและใส่ในตัวปืนแล้ว วิธีแรกไม่ต้องกระชากสไลด์เพื่อป้อนกระสุนนัดแรกเตรียมไว้ก่อนก็ถือว่าปลอดภัยทีเดียว เพราะไม่มีกระสุนอยู่ในรังเพลิงไม่มีโอกาสที่กระสุนจะลั่นออกไปได้ แต่ยามจะใช้งานขึ้นมาก็ต้องเสียเวลากระชากสไลด์ก่อนหนึ่งครั้งเพื่อป้อนกระสุนเข้ารังเพลิงจึงจะยิงได้ซึ่งเสียเวลาอยู่พอสมควร ในยามวิกฤติทุกวินาทีหมายถึงชีวิต


แต่ถ้าป้อนกระสุนเข้ารังเพลิงไว้ก่อนก็ต้องหาวิธีทำให้ปืนปลอดภัยจากการตกหล่นแล้วลั่นหรือปืนลั่นออกไปได้ง่ายเกินไปจึงอาจต้องขึ้น Safety ของปืนไว้เพื่อทำให้เหนี่ยวไกไม่ได้และขัดกับสไลด์ไว้ เวลาจะยิงก็ต้องอย่าลืมปลด Safety ด้วยไม่อย่างนั้นก็ยิงไม่ออก (ในเวลาคับขันอาจลืมได้) หรืออีกวิธีหนึ่งคือปืนที่มีระบบการลดนกสับลงครึ่งหนึ่งหรือลดลงจนชิดโครงปืนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งปืนจะยิงไม่ได้จนกว่าจะง้างนกสับถอยหลังจนสุด (ในเวลาคับขันก็ยังอาจลืมได้เช่นกัน) ในปืนกึ่งอัตโนมัติบางยี่ห้อหรือบางรุ่นไม่มี Safety หรือระบบลดนกมาให้ ดังนั้นความปลอดภัยในการใช้ปืนจึงขึ้นอยู่กับผู้ที่ถือปืนกระบอกนั้นเท่านั้น โดยรวมๆแล้วปืนลูกโม่ทำให้ปลอดภัยได้ง่ายกว่าปืนกึ่งอัตโนมัติ


15. ด้ามปืนที่เหมาะสมกับมือ สำหรับปืนลูกโม่แล้วมีด้ามปืนให้เลือกมากมายหลายขนาดและหลายแบบ เราสามารถเลือกให้เหมาะกับมือได้ง่ายกว่าปืนกึ่งอัตโนมัติซึ่งด้ามปืนเป็นที่อยู่ของซองกระสุนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้มากนัก


16. ปืน Single action หรือ Double action ขอยกตัวอย่างปืนลูกโม่เวลายิงปืนนกสับจะทำงานสองจังหวะคือ จังหวะแรก นกสับที่อยู่ชิดโครงปืนต้องง้างถอยหลังออกมาจนสุด จังหวะที่สองคือ นกสับดีดกลับไปชิดโครงปืนทำให้เข็มแทงชนวนกระแทกกับจานท้ายกระสุนเพื่อจุดระเบิดดินปืนส่งผลให้กระสุนลั่นออกไป ปืน Single action หมายถึงเราต้องง้างนกสับถอยหลังมาก่อนจึงจะเหนี่ยวไกเพื่อปล่อยให้นกสับดีดกลับไปกระแทกจานท้ายปลอกกระสุน ถ้าเราไม่ง้างนกสับให้ก่อนก็จะยิงไม่ได้ ส่วนปืน Double action เราสามารถเหนี่ยวไกได้เลยในขณะที่นกสับอยู่ชิดโครงปืน ช่วงที่เหนี่ยวไกอยู่นั้นนกสับจะทำงานทั้งสองจังหวะโดยถอยหลังออกมาจนถึงระยะหนึ่งก็จะดีดตัวกลับไปกระแทกจานท้ายปลอกกระสุนทำให้ลูกปืนลั่นออกไป ปืนลูกโม่สมัยใหม่ส่วนใหญ่สามารถยิงได้ทั้งสองแบบ แต่ปืนกึ่งอัตโนมัติส่วนใหญ่เป็น Single action มีส่วนน้อยเป็น Double action ในสหรัฐบางรัฐห้ามเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ปืนกึ่งอัตโนมัติที่เป็น Double action เพื่อความปลอดภัย


จะเห็นได้ว่าไม่มีสิ่งใดในโลกสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งปืนลูกโม่และกึ่งอัตโนมัติก็มีข้อดี ข้อด้อย ข้อจำกัด ของมันเอง การเลือกปืนใช้งานก็ต้องมาดูว่าเรายอมรับข้อบกพร่องจุดไหนได้บ้าง ที่สำคัญควรทดลองยิงปืนทั้งสองชนิดก่อนตัดสินใจ (เวลาไปยิงที่สนามยิงปืนอาจขอเช่าปืนแต่ละชนิดมาทดลองยิงดู หรือเวลาเรียนยิงปืนอาจขอลองยิงปืนหลายๆแบบดู แล้วพิจารณาว่าปืนแบบไหนเหมาะกับเรามากที่สุด)

และเมื่อมีปืนแล้วเราต้องทำความรู้จัก ทำความคุ้นเคยกับมันเพื่อให้รู้ข้อดี ข้อด้อย และฝึกฝนการใช้งานให้เกิดความชำนาญและความปลอดภัย


สุดท้ายนี้ทุกครั้งที่จับปืนขอให้มี “สติ”


เรียบเรียงโดย Batman


ที่มา: http://tactical-shooting.blogspot.com/2009/02/blog-post.html...


จําหน่ายอาวุธปืนนอกแท้นําเข้า.com | ขายปืนมือสอง | ขายปืนหลุดจำนำ | ขายปืนนอกแท้ | ขายปืนทุกประเภท