โครงปืนสั้นพานท้ายปืนยาว Browning Buckmark Rifle
จอห์น เบรานิงก์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักออกแบบปืนระดับสุดยอดอัจฉริยะ ผลงานที่รู้จักแพร่หลายคือ “ปืนอมตะ” 1911 ที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องมานานกว่าร้อยปี และเบรานิงก์ยังออกแบบปืนลูกซองยาวทั้งระบบกึ่งอัตโนมัติ และแบบแฝดซ้อน, ปืนกลหนักใช้กระสุน .50, ปืนลูกกรดแบบถอดลำกล้องได้ ป้อนกระสุนทางพานท้าย รวมทั้งปืนสั้นลูกกรดระดับคลาสสิก คือ โคลท์ วูดส์แมน ที่จัดว่าเป็นปืนยิงเป้าแข่งขันชั้นเยี่ยมของสหรัฐตั้งแต่เปิดตัวช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
โคลท์ ทำปืนวูดส์แมนหลายรูปแบบ เริ่มจากปี 1915 จนถึง 1977 จึงเลิกผลิต สาเหตุใหญ่เป็นเพราะต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งสำคัญสองราย คือ สมิธแอนด์เวสสัน ที่มีโมเดล 41 เป็นปืนแข่งระดับพรีเมียม กับรูเกอร์ สแตนดาร์ด/ทาร์เก็ต ที่เน้นความแข็งแรงทนทาน เมื่อขาดวูดส์แมนไปทำให้ช่วงทศวรรษ 1980 ปืนสั้นลูกกรดสัญชาติอเมริกันเหลือตัวเลือกน้อย เป็นจังหวะเดียวกับที่ FN ของเบลเยียม ซื้อกิจการ Browning Arms เมื่อปี 1977 ตั้งโรงงานใหม่ในสหรัฐ เลือกทำปืนสั้นลูกกรดที่วางตัวอยู่ตรงกลางระหว่าง สมิธ 41 กับ รูเกอร์ ที่เพิ่งปรับแบบเป็น มาร์คทู (Mk. II)
ลูกกรดสั้นของเบรานิงก์ แผนแบบเดิมมาจากรุ่น Medallion ที่ทำขายในยุโรปอยู่มาก่อน ลดมุมด้ามจากแนวเอียงเหมือนปืน ลูเกอร์ มาเป็น 23 องศา เท่า 1911 ตั้ง ชื่อรุ่นว่า “บัคมาร์ค” (Buckmark) ตรงกับเครื่องหมายการค้าตราหัวกวางที่ประทับไว้บนด้าม จุดขายของปืนบัคมาร์ค คือสวยคลาสสิกใกล้เคียงกับ สมิธ 41 แต่ราคาต่ำกว่า มุ่งแข่งกับรูเกอร์, ไกคม ยิงได้แม่นยำระดับปืนยิงเป้า
ระบบการทำงานของบัคมาร์ค เป็นแบบลำเลื่อนอัดสปริงไม่ขัดกลอน นกสับซ่อนใน, ไกซิงเกิลทุกนัด, ใช้ซองกระสุนแบบเรียงเดี่ยวจุสิบนัด เสียบเข้าทางส้นด้าม, ปุ่มปลดซองกระสุนอยู่ที่โคนโกร่งไก, ยิงกระสุนนัดสุดท้ายแล้วลำเลือนเปิดค้าง มีแป้นให้กดเพื่อปล่อยคันค้างเหนือประกับด้ามด้านซ้าย และมีคันห้ามไกอยู่ถัดเข้ามาตรงตำแหน่งโคนนิ้วโป้งเมื่อจับปืนพร้อมยิง
จุดหนึ่งที่ทำให้บัคมาร์คติดตลาดเป็นปืนขายดี คือลำกล้องถอดเปลี่ยนได้ง่าย มีสกรูยึดใต้โครงปืนหน้าโกร่งไก เบรานิงก์ทำลำกล้อง บัคมาร์คหลายระดับความยาว คือ 4 นิ้วน้ำหนักเบา สำหรับเป็นปืนติดเป้, 5.5 กับ 7.25 นิ้ว ติดศูนย์เปิดสำหรับแข่งยิงเป้าระบบอเมริกัน (NRA), และยาวสุด 10 นิ้วลำกล้องหนา สำหรับแข่งยิงเป้าเหล็กล้ม โดยลำกล้องทุกแบบเจาะรูทำเกลียวไว้ด้านบนสำหรับติดรางรับอุปกรณ์ หรือติดศูนย์หลังสำหรับรุ่นที่ใช้ศูนย์เปิด เมื่อถอดเปลี่ยนลำกล้องไม่ต้องปรับศูนย์ และขณะยิงตัวกล้องหรือศูนย์จะอยู่กับที่ ไม่วิ่งไปมาเหมือนติดตั้งบนลำเลื่อน
ปืนนายแบบสัปดาห์นี้ เป็น Buckmark Rifle ที่โรงงานเสริมโครงแบบถาวรให้ต่อพานท้ายเป็นปืนยาว, ใช้ลำกล้อง 18 นิ้ว เพิ่มไม้รางปืนใต้ลำกล้อง มีศูนย์เปิดฝังเส้นรวมแสงสามจุด โดยย้ายศูนย์หลังไปติดตั้งหน้ารางรับขากล้อง เพิ่มไม้กระโจมมือให้จับยิงได้เหมือนปืนยาว น้ำหนักเบาคล่องตัวดีมาก สำหรับบ้านเราผู้ที่มีปืนบัคมาร์คอยู่แล้วสามารถเปลี่ยนใส่ลำกล้องสั้นกว่าได้ แต่ในสหรัฐถือว่าผิดกฎหมาย คือปืนไรเฟิลประทับไหล่ต้องใช้ลำกล้องยาวกว่า 16 นิ้ว และถ้าเป็นปืนสั้น ห้ามติดพานท้ายแบบถอดใส่ได้.
ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช...
จําหน่ายอาวุธปืนนอกแท้นําเข้า.com | ขายปืนมือสอง | ขายปืนหลุดจำนำ | ขายปืนนอกแท้ | ขายปืนทุกประเภท